นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูนร่วมสร้าง นกหัสดีลิงค์ เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระครูปัญญาธรรมวัฒน์ (พระครูบาอินทร ปัญญาวัฑฒโน) เจ้าอาวาสวัดสันป่ายางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นผู้ออกแบบ และดำเนินการสร้างตามศิลปะล้านนา มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 18 เมตร อย่างสมพระเกียรติ ตามตำนานล้านนา กล่าวว่า นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถิลิงคะสะกุโณ เรียกตามภาษาของเราว่า นกหัสดีลิงค์
ตามประวัติศาสตร์ล้านนา ที่เล่าขานต่อกันมาว่า นกหัสดีลิงค์ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความพิเศษ คือ มีเพศเพียงดั่งช้าง เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ ๓-๕ เชือกรวมกัน ซึ่งเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตรา เจ้าเมืองผู้มีอำนาจบารมีสูง ความเชื่อของชาวล้านนา แต่อดีตกาล นิยมสร้าง ปราสาทนกหัสดีลิงค์ เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือ รวมถึงพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพ เพื่อให้พิธีศพสง่างาม สมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่ชาติสรวงสวรรค์ชั้นพรหมโลก เทวโลก แต่ในปัจจุบัน ปราสาทนกหัสดีลิงค์ นิยมใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น โดยรูปลักษณะของตัวนกหัสดีลิงค์นั้น มีรูปร่างโครงสร้างส่วนหัวและลำตัวทำจากโครงไม้ ตัดแต่งกระดาษเป็นลวดลาย ทำเป็นเกล็ด ส่วนหัวช้าง มีความพิเศษของการเคลื่อนไหวไปมาได้ โดยชิ้นส่วนคอและหัว ต้องเคลื่อนไหวหมุนไปมา ใบหูสามารถพับกระพือได้ ส่วนงวงทำจากผ้าเย็บเป็นทรงกระบอก เลียนแบบงวงช้าง มีเชือกร้อยอยู่ด้านในสำหรับดึง เคลื่อนไหวได้ ดวงตาต้องมีลักษณะกลมมน ขนตายาวสวย กะพริบได้ เหมือนมีชีวิตจริงๆ ในอดีต เมื่อเจ้านายฝ่ายเหนือสิ้นชีพิตักษัย การจัดประเพณีศพของเจ้านายสมัยนั้น จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ ด้วยการสร้างบุษบก สวมทับพระโกศ ตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ ฉุดลากด้วยช้าง และให้ชาวบ้านชาวเมืองเดินตามขบวนแห่ไปยังสุสาน ปัจจุบันพิธีศพนี้ นำมาใช้กับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ด้วย